งานซ่อมแซมคอนกรีต (Concrete Repair) คาน,เสา,พื้น,ผนังคอนกรีต

บริการงานซ่อมแซมคอนกรีต,คาน,เสา,พื้น (Concrete Repair) ทุกประเภทชำรุดเสียหาย โดย บริษัท ไลท์ อินโนวา จำกัด ตามมาตรฐานปฏิบัติในการซ่อมแซมคอนกรีต ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเสียหาย ดังต่อไปนี้

1. ความเสียหายเนื่องจากเกิดสนิมในเหล็กเสริมในส่วนของโครงสร้างสนิม

เกิดจากการทำปฏิกิริยากันระหว่าง ออกซิเจนและธาตุเหล็ก เกิดเป็นรอยของการเกิดการผุกร่อน เป็น Corrosion ประเภทหนึ่งซึ่งมักเกิดกับโลหะจำพวกเหล็ก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่พบเห็นได้ง่ายๆ กับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ แต่เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจจะกินเวลายาวนาน เกิดขึ้นเมื่อมีเหล็กสัมผัสกับน้ำและความชื้น โดยจะค่อย ๆ สึกกร่อน กลายเป็นเหล็กออกไซด์ หรือที่เรารู้จักกันว่า สนิมเหล็ก (Fe2O3.H2O )

สังเกตได้จากสีและลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างจากเหล็ก (Fe) ดังปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นปัญหาที่เกิดจากการเป็นสนิมของเหล็กเสริมในโครงสร้าง คือ ขนาดหน้าตัดเหล็กเสริมที่แท้จริง บริเวณที่เหล็กเกิดสนิมจะมีขนาดเล็กลงเนื่องจากเหล็กบางส่วนกลายเป็นสารละลาย อิสระ (Fe2+) และอิเลคตรอนเมื่อหน้าตัดของเหล็กน้อยลง จึงทำให้ความสามารถรับแรงได้ลดลง และยังส่งผลให้คอนกรีตเสริมเหล็กเกิดการแตกร้าวตามแนวเหล็กเสริมเนื่องจากการเกิดสนิมจะทำให้เกิดแรงดันต่อคอนกรีตบริเวณรอบๆ เหล็ก เสริมเนื่องจากสนิมเหล็ก จะมีปริมาตรมากกว่าเหล็กเดิม ฉะนั้นย่อมทำให้กำลังรับแรงของโครงสร้างลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FATIGUE STRENGTH และความสามารถในการแอ่นตัวและความยืดหยุ่น (STIFFNESS) ของโครงสร้างก็ลดลงด้วย

2. ความเสียหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน

ตัวอย่างเช่น อาคารเดิมสร้างมาเพื่อเป็นทาวเฮาน์พักอาศัย เมื่อเปิดใช้งานแล้วมีการเปลี่ยนการใช้งานเป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการใช้งานดังกล่าวเป็นการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกให้กับโครงสร้าง อาจสาเหตุทำให้โครงงานเกิดการชำรุดสึกหรอ หรือวิบัติได้ ดังนั้นการแก้ไขซ่อมแซมจึงควรเพิ่มกำลังรับน้ำหนักบรรทุกของโครงสร้าง หรืออย่างน้อยหลังการซ่อมแซมโครงสร้าง ต้องมีกำลังรับน้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่าโครงสร้างเดิมก่อนการวิบัติ

3. ความเสียหายเนื่องจากเพลิงไหม้

โครงสร้างที่ถูกเพลิงไหม้เวลานานๆ มักจะเสียกำลังในการรับน้ำหนักไป ถึงแม้ว่าคอนกรีตจะมีสภาพเป็นฉนวนและทนต่อความร้อนได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อคอนกรีตได้รับความร้อนมากๆ อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้คอนกรีตไม่เกาะตัวกัน กะเทาะร่อนและแตกออก ทำให้เหล็กเสริมภายในรับความร้อนโดยตรง เมื่อเหล็กเสริมได้รับความร้อนที่สูงถึง 425 องศาเซลเซียส กำลังของเหล็กเสริมจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โครงสร้างเกิดการวิบัติ ดังนั้นการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุดสึกหรอเนื่องจากเพลิงไหม้ จึงเป็นการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างให้ใช้งานได้เหมือนเดิม ปลอดภัยต่อการใช้งาน หรือเสริมความแข็งแรงให้มากการเดิมก็ได้

ขั้นตอนการซ่อมแซม

ในกรณีที่เหล็กเสริมในคอนกรีตเป็นสนิม จะทำให้คอนกรีตบริเวณโดยรอบเกิดการเบ่งและแตกออก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกำลังรับน้ำหนักบรรทุกโครงสร้าง 

1. ทำการสกัดคอนกรีตบริเวณที่เหล็กเป็นสนิมออกให้หมด  

กรณีที่เป็นสนิมมาก ควรทำการติดตั้งค้ำยันโครงสร้าง เพื่อถ่ายน้ำหนักโครงสร้างไปยังโครงสร้างส่วนอื่นๆ

2. ทำการขัดสนิมในเหล็กเสริมออกให้หมด 

หากเหล็กเสริมมีขนาดหน้าตัดน้อยกว่า 20% จะทำการเสริมเหล็กเข้าไป โดยวิธีการทาบหรือเชื่อม

3. ทำความสะอาดเหล็กเสริมคอนกรีตให้เรียบร้อย  

พร้อมทาน้ำยาเคลือบป้องกันสนิม Epoxy Rasin Primer และน้ำยาประสานคอนกรีต

4. ติดตั้งก้อน Zinc Concrete Anode เข้ากับเหล็กเสริมในคอนกรีต 

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันสนิม เพื่อบังคับให้ศักย์ไฟฟ้าของเหล็ก มีความต้านทานต่อการเกิดสนิม (Anodic Protection)

5. ตรวจสอบความเรียบร้อย

และทำการติดตั้งไม้แบบสำหรับการเทคอนกรีต

6. ผสมน้ำยาประสานคอนกรีตเข้ากับซีเมนต์

สำหรับคอนกรีตโครงสร้างผสมด้วยคอนกรีตกำลังสูงที่ไม่หดตัว (Non-Shrink Concrete) และน้ำให้เข้ากัน แล้วทำการเทใส่ลงไปในไม้แบบที่จัดเตรียมไว้

7. รอให้คอนกรีตที่เทแข็งตัว 

จึงทำการถอดแบบ และแต่งผิวให้เรียบร้อย